ความงามของภาษา
ความหมายของคำว่าภาษา
ภาษา หมายถึง การพูด การแสดงออกเพื่อสื่อความหมายอย่างเป็นระบบ ระหว่างผู้รับสารและผู้ส่งสาร ภาษาใช้เสียงสื่อความหมายเป็นสำคัญ ดังนั้น ทุกชนชาติจึงมีภาษา นั่นคือภาษาพูด ตัวอักษรไม่ใช่ภาษา แต่เป็นสัญลักษณ์ที่ใช้แทนเสียงในภาษา
ความสัมพันธ์ระหวางเสียงกับความหมาย
เสียงจะมีความหมายอย่างไร ขึ้นกับการตกลงกันของคนแต่ละกลุ่ม แต่ละพวก นั่นคือ ถ้าเสียงกับความหมายมีความสัมพนธ์กันอย่างใกล้ชิดจริง ๆ แล้ว ทุก ๆ ชนชาติจะใช้คำตรงกัน และในโลกจะมีเพียงภาษาเดียวเท่านั้น คำที่พอจะมีความสัมพันธ์ระหว่างเสียงกับความหมายคือ "คำเลียนเสียงธรรมชาติ" ซึ่งมีอยู่น้อยนิดในแต่ละภาษา เช่น คนไทย เรียกนกชนิดหนึ่งว่า กา คนอินเดียเรียก กาก ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า ภาษาเป็นไปตามกำหนดของแต่ละชนกลุ่ม
กำเนิดภาษา
ภาษาไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่มนุษย์เป็นผู้สร้างขึ้นมา โดยการกำหนดกันเองว่า แต่ละคำให้มีความหมายอย่างไร ดังนั้น ภาษาในโลกนี้ จึงมีมากหมายหลายร้อยภาษา
การพัฒนาของภาษา
เมื่อภาษาเกิดขึ้นมาแล้ว ภาษามักจะสะท้อนความเจริญของมนุษย์ผู้สร้างสรรค์ เช่น ภาษาไทย เป็นภาษาที่แสดงให้เห็นถึงคนไทยที่เจริญทางด้านศิลปวัฒนธรรม ตั้งแต่โบราณ ภาษาไทยจึงมีศัพทืเฉพาะที่เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม แต่ศัพท์ที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีไม่ค่อยมี จึงต้องทับศัพท์ หรือคิดค้นคำใหม่ในภายหลัง
การเปลี่ยนแปลงภาษา
ภาษามีการเปลี่ยนแปลง ทั้งทางด้านเสียง และความหมาย บางคำอาจกลายเป็นเป็นคำสูญหาย ไม่มีใครใช้ ทั้งนี้อาจมีสาเหตุจาก 1. การพูดในชีวิตประจำวัน ทั้งการกร่อนเสียง เช่น หมากขาม เป็น มะขาม สาวใภ้ เป็น สะใภ้ หรือการกลมกลืนเสียง เช่น อย่างไร เป็น ยังไง อย่างนั้น เป็น อย่างงั้น 2. อิทธิพลจากภาษาอื่น 2.1 ในสมัยก่อน ไทยรับภาษาบาลี สันสกฤต และคำเขมรมาใช้ แต่ในปัจจุบัน ไทยรับเอาคำตะวันตกมาใช้ เช่นคำว่า เกียร์ เมตร ไมล์ สังเกตว่า เรารับแต่คำศัพท์มา มิได้รับไวยากรณ์มาด้วย เช่น เราใช้คำว่า เขาสูงห้าฟุต มิใช่ เขาสูงห้าฟิต 2.2 การใช้สำนวนภาษาต่างประเทศ เช่น มันเป็นการดีที่จะบอกว่า หรือ เขาถูกตี 2.3 การใช้จำนวนนับอยู่ข้างหน้าคำนาม โดยไม่ใช่ลักษณนาม เช่น 3 โจร ปล้น 5 เหรียญทอง ต้องแก้เป็น โจร 3 คน ปล้นเหรียญทอง 5 เหรียญ 2.4 การเรียงลำดับคำ เช่น ทุกสภาพถนน ต้องแก้เป็น ถนนทุกสภาพ 2.5 การเรียงลำดับประโยค เช่น ไทยส่งออกข้าวปีละมาก ๆ ต้องแก้เป็น ไทยส่งข้าวออกปีละมาก ๆ 2.6 การใช้คำว่า ซึ่ง เช่น อย่าฆ่าซึ่งสัตว์ อย่าตัดซึ่งชีวิตมนุษย์ ควรแก้เป็น อย่าฆ่าสัตว์ อย่างตัดชีวิตมนุษย์ 3. ความเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม เมื่อสิ่งแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลง ก้อมีการเรียกสิ่งใหม่เช่น จานดาวเทียม โทรศัพท์มือถือ 4. การเรียนภาษาของเด็ก เมื่อเด็กเริ่มเรียนภาษา อวัยวะต่าง ๆ ยังทำงานไม่เต็มที่ เด็ก ๆ จะออกเสียงเพี้ยนไปจากผู้ใหญ่ บางทีต้องสร้างคำง่าย ๆ เพื่อให้เด็กออกเสียงกัน เช่น หม่ำ แทนคำว่า กิน สมองของเด็กอาจยังไม่พัฒนาเต็มที่ มักอาจผูกประโยคแบบแปลก ๆ ถ้าหากเด็กไม่ได้รับการแก้ไขหรือผู้ใหญ่เห็นว่าน่ารัก อาจนำมาใช้ตาม ก็อาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางภาษาได้
ประโยชน์ของภาษา
1. ภาษาช่วยธำรงสังคม มนุษย์ใช้ภาษาทักทายปราศัย สร้างมิตรไมตรี ทำให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข 2. ภาษาช่วยแสดงเอกัตภาพของบุคคล ภาษาเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงความคิดเห็น รสนิยม สติปัญญา ลักษณะเฉพาะของบุคคล 3. ภาษาช่วยพัฒนามนุษย์ ภาษาทำให้มนุษย์สามารถถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ ความคิดที่สั่งสมมาไปยังรุ่นต่อไป ให้ขยายกว้างไปทั่ว เพื่อเป็นฐานในการสร้างเสริม ให้เกิดการพัฒนามากขึ้น 4. ภาษากำหนดอนาคต มนุษย์สามารถกำหนดอนาคตด้วยการใช้ภาษา เช่น การวางแผน การร่างโครงการ การทำนาย การทำสัญญา การพิพากษา การอ้อนวอน การขอร้อง 5. ภาษาทำให้เกิดความชื่นบาน ภาษาทำให้เกิดความไพเราะ ความหมายลึกซึ้ง คารมคมคาย ถ้อยคำชวนขัน การเล่นเกมทางภาษา อย่างไรก็ตาม การเล่นสนุกกับภาษา ต้องอยู่ในรสนิยมที่ดีงาม ไม่เล่นคำผวนที่หยาบคาย เป็นต้น
อิทธิพลของภาษาที่มีต่อมนุษย์
- มนุษย์เข้าใจไปว่า คำต่าง ๆ ในภาษากับสิ่งที่คำนั้นใช้แทนคือสิ่งเดียวกัน บางคนเชื่อในอำนาจของคำ เช่น ถ้าท่องคาถาหัวใจหมี จะทำให้ไม่ถูกผึ้งต่อย เป็นต้น - คนไทยบางคน เชื่อในความเป็นมงคลของพืชบางชนิด ที่พ้องกับสิ่งที่เป็นมงคล เช่น ใบเงิน ใบทอง มักนำพืชดังกล่าว มาใช้ในงานมงคล - คำบางคำ แฝงความหมายไปทางบวก หรือคุณสมบัติอันเป็นที่ชอบใจ และบางคำ มีความหมายเป็นลบ เช่น สิ้นใจ พูดปด เหล่านี้ ให้ความรู้สึกที่ดีกว่า คำว่า ตาย โกหก เป็นต้น
วันพุธที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2552
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น