วันอาทิตย์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ความดันโลหิตสูง

ความดันโลหิตสูง
โรคความดันโลหิตสูง หรือ โรคแรงดันเลือดสูง ภาษาอังกฤษเรียก Hypertension ภาษาชาวบ้านเรียกง่ายๆว่า “โรคความดัน” ซึ่งเป็นโรคที่รู้จักกันมาก โรคหนึ่ง แต่เชื่อไหมครับ จากการศึกษาพบว่าชาวอเมริกันร้อยละ 68.4 เท่านั้นที่ทราบว่าตัวเองมี ความดันโลหิตสูง และมีเพียงร้อยละ 53.6 ที่รับการรักษา และในกลุ่มนี้มีเพียงร้อยละ 27.4 ที่สามารถควบคุมความดันโลหิตได้ดี นั่นเป็นสถิติต่างประเทศ สำหรับบ้านเรายังล้าหลังเรื่องข้อมูลพวกนี้อยู่มาก ผู้เขียนหวังว่าบทความนี้คงช่วยให้ผู้อ่านมีความเข้าใจ และ เห็นความสำคัญของการรักษาความดันโลหิตสูงมากขึ้น
ความดันโลหิตคืออะไร
ลองนึกภาพสายยางรดน้ำต้นไม้ มีน้ำไหลเป็นจังหวะการปิดเปิดของก๊อก เมื่อเปิดน้ำเต็มที่ น้ำไหลผ่านสายยาง ย่อมทำให้เกิดแรง ดันน้ำขึ้นในสายยางนั้น และเมื่อปิดหรือหรี่ก๊อก น้ำไหลน้อยลง แรงดันในสายยางก็ลดลงด้วย ระบบหัวใจและหลอดเลือด ก็เป็น ระบบไหลเวียนของเลือดทั่วร่างกาย โดยมีหัวใจ ทำหน้าที่คล้ายก๊อก หรือ ปั๊มน้ำ คอยสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย เลือดไหลแรงดี ความดันก็ดี หากหัวใจบีบตัวไม่ดี เลือดไหลอ่อน ความดันก็ลดลง นอกจาก นั้นแล้วความดันในหลอดเลือดยังขึ้นกับสภาพของ หลอดเลือดด้วย หากหลอดเลือดมีความยืดหยุ่นดี จะปรับความดันได้ดี ไม่ให้สูงเกินไป แต่หาก หลอดเลือดเสียความยืดหยุ่น หรือ แข็งตัว ก็จะทำให้ความดันเปลี่ยนแปลงไปด้วย
ค่าความดันโลหิตจะมีสองค่าเสมอ เรียกว่า “ตัวบน” และ “ตัวล่าง” ค่าแรกเป็นความดันโลหิตในหลอดเลือดที่เกิดขึ้นขณะที่หัวใจ บีบตัว ไล่เลือดออก จากหัวใจ ส่วนตัวล่างคือความดันของเลือดที่ยังค้างอยู่ในหลอดเลือดขณะที่หัวใจคลายตัว ผู้ป่วยความดัน โลหิตสูงควรจำค่าทั้งสองไว้ เพราะมีความสำคัญ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
ความดันโลหิตเท่าไรเรียกว่าปกติ
ปัจจุบันความดันโลหิตที่เรียกว่า “เหมาะสม” ในผู้ที่อายุมากกว่า 18 ปี คือ ตัวบนไม่เกิน 120 มม.ปรอท และตัวล่างไม่เกิน 80 มม.ปรอท เรียกสั้นๆว่า 120/80 ความดันโลหิตที่ “อยู่ในเกณฑ์ปกติ” คือ ต่ำกว่า 130/85 มม.ปรอท ความดันโลหิตสูงเล็กน้อย แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ คือ 130-139/85-89 มม.ปรอท จะเรียกได้ว่ามีความดันโลหิตสูงเมื่อ ความดันโลหิตตัวบนมากกว่า (หรือเท่ากับ) 140 และตัวล่างมากกว่า (หรือเท่ากับ) 90 มม.ปรอท อย่างไรก็ตามก่อน ที่จะเรียกว่าผู้ป่วยมีความดันโลหิตสูงได้นั้น แพทย์จะต้องวัดซ้ำหลายๆครั้ง หลังจากให้ผู้ป่วยพักแล้ว วัดซ้ำจนกว่าจะแน่ใจว่าสูงจริง และที่สำคัญเทคนิค การวัดต้องถูกต้องด้วย

ข้อที่ควรทราบบางประการเกี่ยวกับความดันโลหิต
ประการแรกคือความดันโลหิตเป็นค่าไม่คงที่ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทุกวินาที จึงไม่แปลกที่วัดซ้ำในเวลาที่ใกล้เคียงกัน แล้วได้คนละค่า แต่ก็ไม่ควรจะแตกต่างกันนัก ความดันโลหิตยังขึ้นกับท่าของผู้ถูกวัดด้วย ท่านอนความดันโลหิตมักจะสูงกว่าท่ายืน นอกจากนั้นแล้ว ยังขึ้นกับ สิ่งกระตุ้นต่างๆ เช่น อาหาร บุหรี่ อากาศ กิจกรรมที่ทำอยู่ รวมทั้งจิตใจด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น