วันพุธที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2552

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองถือได้ว่าเป็นผลพวงหรือ “คู่แฝด” ของการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 โดยในคำประกาศของคณะราษฎรในวันยึดอำนาจกล่าวว่า การที่ราษฎรยังถูกดูหมิ่นว่ายังโง่อยู่ ไม่พร้อมกับระบอบประชาธิปไตยนั้น “เป็นเพราะขาดการศึกษาที่พวกเจ้าปกปิดไว้ไม่ให้เรียนเต็มที่”[4] นโยบายหรือหลักประการที่ 6 ใน หลัก 6 ประการของคณะราษฎร จึงระบุไว้ว่า “จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร”[4] สถาบันศึกษาแบบใหม่ที่เปิดกว้างให้ประชาชนชาวสยามได้รับการศึกษาชั้นสูง โดยเฉพาะที่จะรองรับการปกครองบ้านเมืองที่เปลี่ยนไป จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมาคู่กันกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ดังที่ปรีดี พนมยงค์ ได้กล่าวไว้ในโอกาสจัดตั้งมหาวิทยาลัยว่า “การตั้งสถานศึกษาตามลักษณะมหาวิทยาลัยย่อมเป็นเครื่องพิสูจน์ และเป็นปัจจัยในการแสดงความก้าวหน้าของประเทศ ประชาชนชาวสยามจะเจริญในอารยธรรมได้ก็โดยอาศัยการศึกษาอันดีตั้งแต่ชั้นต่ำ ตลอดจนการศึกษาชั้นสูง เพราะฉะนั้นการที่จะอำนวยความประสงค์และประโยชน์ของราษฎรในสมัยนี้ จึงจำต้องมีสถานการศึกษาให้ครบบริบูรณ์ทุกชั้น” และ “มหาวิทยาลัยย่อมอุปมาประดุจบ่อน้ำบำบัดความกระหายของราษฎร ผู้สมัครแสวงหาความรู้อันเป็นสิทธิและโอกาสที่เขาควรมีควรได้ตามหลักแห่งเสรีภาพในการศึกษา รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรเห็นความจำเป็นในข้อนี้ จึงได้ตราพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้น”[1][5]
อีกแรงผลักดันหนึ่งที่ทำให้เกิดการก่อตั้ง มธก. ขึ้น อาจมาจากกลุ่มอดีตนักเรียนโรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม กล่าวคือใน พ.ศ. 2476 รัฐบาลอนุรักษนิยมช่วงเปลี่ยนผ่านของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา โรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรมได้ถูกโอนไปขึ้นกับคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอยู่หนึ่งปี[6] ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้แก่นักเรียนโรงเรียนกฎหมาย ที่ต้องการให้ยกฐานะโรงเรียนของตนเป็นมหาวิทยาลัยดังเช่นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่กลับถูกทำให้เสมือนถูกยุบหายไป จึงมีผลผลักดันให้นักเรียนกฎหมายดังกล่าวเคลื่อนไหวหนุนให้มีการก่อตั้ง มธก. ขึ้น[1] โดยเมื่อจัดตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองนั้น ได้โอนทรัพย์สินตลอดจนคณาจารย์ของโรงเรียนกฎหมายเดิม เข้ามาสังกัดในมหาวิทยาลัยใหม่นี้ด้วย[7]
ด้วยเหตุทั้งหมดนี้ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองจึงได้สถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2477 ณ ที่ตั้งเก่าของโรงเรียนกฎหมาย บนถนนราชดำเนิน เชิงสะพานผ่านพิภพลีลา[1] โดยมีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทำพิธีเปิดมหาวิทยาลัย[8][9]
ในช่วงเวลา 2 ปีแรก (พ.ศ. 2477-2479) การเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยยังคงดำเนินอยู่ที่ตึกโรงเรียนกฎหมายเดิม หลังจากนั้นจึงได้ย้ายมาที่บริเวณวังหน้า ท่าพระจันทร์ ดังเช่นในปัจจุบัน[1] และต่อมาได้มีการขยายการเรียนการสอนออกไปที่จังหวัดปทุมธานี ลำปาง ชลบุรี นราธิวาส และอุดรธานี



แต่เดิมเมื่อเริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองนั้น ในระดับปริญญาตรีมีเปิดสอนเพียงหลักสูตรเดียวคือ "ธรรมศาสตร์บัณฑิต" (ธ.บ.) ซึ่งเน้นวิชากฎหมาย รวมถึงกฎหมายที่เป็นเรื่องใหม่ในขณะนั้นคือกฎหมายรัฐธรรมนูญ[1] และมีวิชารัฐศาสตร์และวิชาเศรษฐศาสตร์แทรกอยู่ด้วย[3][10] ส่วนในระดับปริญญาโทนั้นมีแยกสามแขนงคือ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และต่อมาได้มีหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงทางการบัญชีซึ่งเทียบเท่าปริญญาโท และในระดับระดับปริญญาเอกมีสี่แขนงคือ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และการทูต แต่ใน พ.ศ. 2492 ภายหลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หลักสูตรธรรมศาสตร์บัณฑิตก็ได้ถูกยกเลิกไป และเปลี่ยนเป็นหลักสูตรปริญญาตรีเฉพาะทางในสาขาต่าง ๆ แทน ตาม “ข้อบังคับเพิ่มเติมว่าด้วยการแบ่งแยกการศึกษาเป็น 4 คณะ ได้แก่ คณะนิติศาสตร์ คณะพานิชยศาสตร์และการบัญชี คณะรัฐศาสตร์ และคณะเศรษฐศาสตร์ และกำหนดสมัยการศึกษาและการสอบไล่ พ.ศ. 2492”[3]
ปัจจุบันมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดการศึกษาครอบคลุมทางด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์สุขภาพ ทุกระดับจำนวนทั้งสิ้น 256 หลักสูตร เป็นระดับปริญญาตรี 111 หลักสูตร ประกาศนียบัตรบัณฑิต 8 หลักสูตร ปริญญาตรีควบปริญญาโท 4 หลักสูตร ปริญญาโท 99 หลักสูตร และปริญญาเอก 34 หลักสูตร จัดการศึกษาทั้งภาคกลางวันและภาคค่ำ (ข้อมูลปี พ.ศ. 2550[11])

[แก้] กลุ่มสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
คณะนิติศาสตร์
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
คณะรัฐศาสตร์
คณะเศรษฐศาสตร์
คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์
คณะศิลปศาสตร์
คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
คณะศิลปกรรมศาสตร์
วิทยาลัยสหวิทยาการ
วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์

[แก้] กลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
คณะวิศวกรรมศาสตร์
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง
สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร

[แก้] กลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ
คณะแพทยศาสตร์
คณะสหเวชศาสตร์
คณะทันตแพทยศาสตร์
คณะพยาบาลศาสตร์
คณะสาธารณสุขศาสตร์
นอกจากนี้ ยังมีหลายหน่วยงานที่จัดหลักสูตรการเรียนการสอนสำหรับนักศึกษา อาทิ สถาบันภาษา, กองกิจการนักศึกษา เป็นต้น อีกทั้งทางมหาวิทยาลัยยังมีหน่วยงานที่จัดการเรียนการสอนเฉพาะระดับสูงกว่าปริญญาตรีอีกด้วย อันได้แก่ วิทยาลัยนวัตกรรมอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักบัณฑิตอาสาสมัคร

[แก้] หลักสูตรนานาชาติ
นอกจาก วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นวิทยาลัยนานาชาติของมหาวิทยาลัยแล้ว[12][13] คณะต่าง ๆ ได้จัดหลักสูตรการเรียนการสอนนานาชาติสำหรับนักศึกษาทั้งชาวไทยและต่างประเทศหลายหลักสูตรด้วยกัน โดยคณะที่เปิดหลักสูตรในลักษณะดังกล่าว ได้แก่ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี, คณะรัฐศาสตร์, คณะเศรษฐศาสตร์, คณะศิลปศาสตร์, คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน, คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, คณะวิศวกรรมศาสตร์, และสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น